วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

ภูมิปัญญาไทย - ภาคเหนือ

ภูมิปัญญาไทย - ภาคเหนือ "ฝายทดน้ำ"
เป็นภูมิปัญญาไทยเกี่ยวกับงานก่อสร้างฝายซึ่งเป็นอาคารที่สร้างปิดขวางทางน้ำไหล เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูง จนสามารถผันเข้าไปตามคลองหรือคูส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกตามบริเวณสองฝั่งลำน้ำ ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลล้นข้ามสันฝายไปเอง
โดยทั่วไปเราสามารถสร้างฝายปิดกั้นลำน้ำธรรมชาติได้ทุกแห่งตามที่ต้องการ สำหรับลำน้ำที่มีน้ำไหลมามากอย่างเพียงพอและค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ฝายจะช่วยทดน้ำในช่วงที่ไหลมาน้อยและมีระดับต่ำกว่าตลิ่งนั้นให้สูงขึ้น จนสามารถผันส่งเข้าคลองเป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่ ส่วนลำน้ำสายใดถ้าหากมีน้ำไหลมาด้วยปริมาณที่ไม่แน่นอนกล่าวคือ มีน้ำไหลจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง หรือมีน้ำไหลเฉพาะเวลาที่ฝนตก เมื่อสภาพภูมิประเทศไม่เหมาะต่อการสร้างเขื่อนดินไว้เก็บน้ำ อาจพิจารณาสร้างฝายปิดกั้นเฉพาะในลำน้ำขึ้นแทนเพราะถึงแม้ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการเพาะปลูกได้เพียงช่วงเวลาที่มีน้ำไหลมาก็ตาม แต่น้ำซึ่งเก็บไว้ในลำน้ำด้านหน้าฝายจะใช้สำหรับอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง พอที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับน้ำกินน้ำใช้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงนิยมสร้างฝายปิดกั้นลำน้ำธรรมชาติในทำเลที่ไม่สามารถก่อสร้างเขื่อนดินเพื่อเก็บกักน้ำได้
นอกจากการก่อสร้างฝายทดน้ำปิดกั้นลำน้ำต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ลำน้ำที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีน้ำไหลมากในฤดูฝน จะนิยมสร้างเป็นเขื่อนทดน้ำแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะไม่ทึบตันเหมือนฝาย เรียกว่า "เขื่อนระบายน้ำ" โดยเขื่อนระบายน้ำจะสามารถทดน้ำได้สูงทุกระดับตามต้องการ และนอกจากนี้ ในเวลาน้ำหลากมามากเต็มที่ เขื่อนระบายน้ำก็ยังสามารถระบายน้ำให้ผ่านไปได้ทันทีในปริมาณที่มากกว่าฝายคล้ายกับน้ำซึ่งไหลมาตามลำน้ำธรรมชาตินั้นตามปกติ